ตามที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ประกาศกฎหมาย พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือที่เรียกว่า “กฎหมาย Digital Platform Service หรือ กฎหมาย DPS” มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาซึ่งจะมีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับดังกล่าวในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้
แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) คืออะไร
ในปัจจุบัน การประกอบธุรกิจบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ที่มีลักษณะเป็นสื่อกลางออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนอง อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัย โดยมีการให้บริการที่หลากหลายประเภทธุรกิจ เช่น การขายสินค้าออนไลน์ การขนส่ง บริการด้านการเงิน บริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
ดังนั้น จึงเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
กฎหมาย พ.ร.ฎ. กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล E-Commerce (DPS )
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ผลักดันการจัดทำ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกัน ความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 และต่อมาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566
โดยผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร โดยกฎหมายDigital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วัตถุประสงค์สำคัญของ การบังคับใช้ พ.ร.ฎ. กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล E-Commerce ( DPS )
- กำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทางETDAทราบข้อมูลที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีมาตรฐาน การให้บริการที่น่าเชื่อถือ เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม
- กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- กำหนดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องปฏิบัติตามไว้หลายประการ โดยหน้าที่แรกที่สำคัญ มีดังนี้
1)
หน้าที่ในการแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ
2)
หน้าที่เพิ่มเติม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะหรือประเภทตามที่ ETDA ประกาศกำหนด ในการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนก่อนหรือขณะใช้บริการ เช่น ชื่อบริการ, ประเภทบริการ, ช่องทางการให้บริการ เป็นต้น
3)
หน้าที่เพิ่มเติม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ขนาดใหญ่หรือ
ที่มีลักษณะเฉพาะ ตามประกาศของ ETDA โดยความเห็นชอบของ คธอ.
รู้ได้อย่างไร ? ว่าบริการใดที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
เนื่องจากบริการดิจิทัลมีจำนวนมากและมีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้เกิดความสับสนว่า บริการใดที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้สำนักงานฯ ทราบ ประกอบกับการทำความเข้าใจต่อกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลทั่วไป
ETDA เปิดบริการ “ระบบ Digital Platform Assessment Tool” สามารถทำแบบประเมินธุรกิจแพลตฟอร์มได้แล้ว
“ระบบ Digital Platform Assessment Tool” สามารถตรวจสอบได้ว่าบริการของตนเองเข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องจดแจ้งตามที่กฎหมาย DPS กำหนดหรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้แก่ ETDA ทราบ และดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ต่อไป
โดยระบบประเมินตนเองนี้ จะครอบคลุมทั้ง ข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับลักษณะการให้บริการ และคำแนะนำอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการทำแบบประเมินดังกล่าว ประมาณ 10 นาที และเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งผลการประเมินให้ท่านทราบว่าธุรกิจบริการของท่านเข้าข่ายเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS หรือไม่ เพื่อให้ท่านสามารถเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการจดแจ้งในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่สนใจสามารถทำแบบประเมินตนเองนี้ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
คลิกที่นี่
และ ฟอร์มการลงทะเบียน เพื่อขอรับคำปรึกษา "การแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล"
คลิกที่นี่