ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก ชาวฮังการี รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอ็นเอ ฟาร์มาซูติคอล และศาสตราจารย์ นพ. ดรู ไวส์แมน ชาวอเมริกันจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ผู้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) คว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2023 ไปครอง
คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาดังกล่าวแถลงว่า การค้นพบและดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุล หรือนิวคลีโอไซด์บางส่วนของเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยใช้สารซูโดยูริดีน (pseudouridine) ที่เป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอที่พบในธรรมชาติ ทำให้ร่างกายของมนุษย์แทบไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสาย mRNA ที่ฉีดเข้าไปเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคเลย ทำให้เทคนิคนี้กลายมาเป็นพื้นฐานของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในที่สุด
ในส่วนของการพัฒนาสาย mRNA ที่มีความทนทานไม่แตกสลายง่าย และไม่กระตุ้นภูมิคุ้มกันจนเกิดการต่อต้านเมื่อถูกนำเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์นั้น มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามค้นหาเทคนิควิธีที่ใช้ได้ผลอยู่นานหลายสิบปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก mRNA เป็นโมเลกุลประจุลบที่มีโครงสร้างเปิดโล่งต่อการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมได้ ต่างจากโครงสร้างของดีเอ็นเอที่เป็นเกลียวปิดซึ่งแข็งแรงกว่า