3 ผู้พัฒนาลำแสงระดับ "อัตโตวินาที" พิชิตรางวัลโนเบลฟิสิกส์ 2023

Thursday, November 9, 2023
3 ผู้พัฒนาลำแสงระดับอัตโตวินาที พิชิตรางวัลโนเบลฟิสิกส์ 2023

ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ดังกล่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์ปิแอร์ อากอสตินี (Pierre Augostini) จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตของสหรัฐฯ ศาสตราจารย์เฟอเรนซ์ เคราซ์ (Ference Krausz) จากสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาควอนตัมออปติกส์ของเยอรมนี และศาสตราจารย์แอนน์ ลุยวิเยร์ (Anne L’Huillier) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดน

หลายคนยังคงงุนงงสงสัยว่า ความเร็วที่ยิ่งกว่าชั่วพริบตาในระดับอัตโตวินาที ซึ่งมนุษย์ธรรมดายากจะจินตนาการไปถึงนั้น มันเป็นความเร็วแบบไหนกันแน่ และเราจะนำวิทยาการ “อัตโตฟิสิกส์” (Attophysics) หรือเทคนิคการใช้ลำแสงความเร็วสูงยิ่งยวดดังกล่าว มาสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด สามารถทำงานได้ด้วยการควบคุมความเคลื่อนไหวของอิเล็กตรอน ซึ่งมนุษย์ยังคงประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเร็วสูงสุดได้แค่ระดับนาโนวินาทีเท่านั้น ส่วนการศึกษาอนุภาคมูลฐานในระดับที่เล็กกว่าอะตอมก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ทำได้เพียงแค่การศึกษานิวเคลียส ซึ่งมีขนาดใหญ่และเชื่องช้ากว่าอิเล็กตรอนมาก ด้วยการตรวจวัดในระดับเฟมโตวินาที (10 ยกกำลัง -15 วินาที) แต่หากเราสามารถเร่งความเร็วในการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับอัตโตวินาทีได้สำเร็จ โลกจะได้เห็นชิปคอมพิวเตอร์หรือไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ ที่ประมวลผลข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงกว่าปัจจุบันถึงพันล้านเท่า

วิทยาการฟิสิกส์ในระดับอัตโตวินาที เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างแสงกับสสาร ซึ่งจะทำให้เราสามารถตรวจสอบโครงสร้างและกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในโมเลกุลต่าง ๆ ณ ชั่วขณะที่กระบวนการทางเคมีหรือฟิสิกส์อนุภาคกำลังเกิดขึ้นจริง เสมือนกับว่ามองเข้าไปเห็นความเคลื่อนไหวของอิเล็กตรอนได้

เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องพลวัตทางควอนตัมของอิเล็กตรอน และนำไปสู่การควบคุมความเคลื่อนไหวของอิเล็กตรอนได้แบบเรียลไทม์ จนสามารถเพิ่มความสามารถในการนำไฟฟ้าได้อย่างยิ่งยวด และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งอนาคตที่ทำงานด้วยความเร็วสูงอย่างเหลือเชื่อได้
 
ที่มา :https://www.bbc.com/thai/articles/cw4d14ppdmyo

Tags:
 

แชร์บทความของเรา

VIEWS
1163

บทความแนะนำ